ประสบการณ์สะเก็ดเงิน/เรื้อนกวาง

สาเหตุการเกิด โรคสะเก็ดเงิน/เรื้อนกวาง

โรคสะเก็ดเงินเกิดขึ้นได้อย่างไรนั้น ในปัจจุบันเองก็ยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดโรคที่แน่ชัด แต่เชื่อว่าเกิดจากหลายปัจจัย ทั้งปัจจัยทางพันธุกรรม หรือการติดเชื้อบางอย่างที่ไปกระตุ้นให้เซลล์ผิวหนังแบ่งตัวเร็วกว่าปกติ ทำให้มีผื่นผิวหนังหนา ลอกเป็นสะเก็ด และมีขุยเกิดขึ้นได้   

โดยทั่วไปผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินจะมีผื่นตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายเพียงอย่างเดียว จะมีเพียงร้อยละ 10-30 ของผู้ป่วยที่มีอาการทางข้อสะเก็ดเงินร่วมด้วยได้ กล่าวคือมีการปวดตามข้อนิ้วมือ ปวดตามแนวกระดูกสันหลัง หรือปวดข้อตะโพกได้ นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ป่วยสะเก็ดเงินมักมีโรคอ้วนลงพุงร่วมด้วยโดยโรคนี้สามารถวินิจฉัยจากการพบความผิดปกติ มากกว่า 3 ใน 5 ข้อดังต่อไปนี้   

  1. มีเส้นรอบเอวมากกว่า 90 เซนติเมตรในผู้ชาย และมากกว่า 80 เซนติเมตรในผู้หญิง   
  2. มีความดันโลหิตมากกว่า 130/85 มิลลิเมตรปรอท หรือได้รับยารักษาความดันโลหิต   
  3. มีระดับไตรกลีเซอไรด์มากกว่า150 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร หรือเป็นผู้ที่มีไขมันในเลือดสูงและได้รับยาลดไขมัน   
  4. มีระดับไขมันชนิดดีน้อยกว่า 40 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรในผู้ชาย และน้อยกว่า 50 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรในผู้หญิง หรือเป็นผู้ที่มีไขมันในเลือดสูงและได้รับยาลดไขมัน   
  5. มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่า100 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร หรือเป็นผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นเบาหวานชนิดที่ 2   

ส่วนคำถามที่ว่า เมื่อเป็นโรคสะเก็ดเงินแล้ว มีโอกาสเสียชีวิตหรือไม่นั้น อธิบายได้ว่าโดยทั่วไปผื่นสะเก็ดเงินไม่ทำให้เสียชีวิต ยกเว้นในกรณีที่เป็นรุนแรง มีผื่นกระจายมากกว่าร้อยละ 90 ของพื้นที่ผิวของร่างกาย ก็อาจทำให้มีโอกาสเสียชีวิตได้   

โรคสะเก็ดเงินไม่ใช่โรคติดต่อ ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นได้ตามปกติ แต่ในกรณีที่มีผื่นมาก อาจมีขุยร่วงตามเก้าอี้ ที่นอน และรบกวนการดำเนินชีวิตของผู้ป่วยได้ และจากการศึกษาพบว่า มียีนหลายตัวที่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรคสามารถถ่ายทอดไปยังลูกได้ และการศึกษาทางระบาดวิทยาพบว่า ถ้าพ่อหรือแม่คนใดคนหนึ่งเป็นโรคสะเก็ดเงิน เมื่อมีลูกโอกาสที่ลูกจะเกิดโรคได้มีประมาณร้อยละ 14แต่ถ้าทั้งพ่อและแม่เป็นโรคสะเก็ดเงิน ลูกมีโอกาสเกิดโรคได้ถึงร้อยละ 40                 

เนื่องจากโรคสะเก็ดเงินเป็นโรคผื่นผิวหนังอักเสบเรื้อรังที่ไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด จึงยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่การรักษาจะช่วยควบคุมโรค และช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ ฉะนั้นเพื่อเป็นการป้องกัน จึงมีคำแนะนำเรื่องการรับประทานอาหารของผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินว่า ควรงดเหล้า ไวน์ และอาหารหมักดอง ขนมปังที่มีส่วนผสมของยีสต์ เส้นบะหมี่เหลือง ม่าม่า เป็นต้น เพราะจะสามารถกระตุ้นให้ผื่นกำเริบได้ และยาบางชนิด เช่น ยาลิเทียม ยาต้านมาลาเรีย ยาลดความดันกลุ่มเบต้าบล๊อกเกอร์ รวมทั้งยาลดต้านอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ ก็สามารถกระตุ้นให้โรคกำเริบได้ 

แนวทางการรักษาขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคเป็นหลัก กรณีที่ผู้ป่วยมีอาการไม่รุนแรง การใช้ยาทาก็เพียงพอสำหรับการควบคุมโรคได้ แต่ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการของโรคปานกลางถึงรุนแรง อาจมีความจำเป็นต้องใช้การรักษาอื่นร่วมด้วย เช่น การรับประทานยา การฉายแสงอัลตราไวโอเลตเทียม การฉีดยากลุ่มชีวภาพ เป็นต้น ทั้งนี้แพทย์จะเป็นผู้ประเมินความเหมาะสมในการรักษาแต่ละประเภทสำหรับผู้ป่วยแต่ละคน      

ผู้ป่วยสะเก็ดเงินควรดูแลตัวเองมากเป็นพิเศษ เนื่องจากความเครียด การอดนอน การติดเชื้อ การเจ็บป่วย การเกา จะกระตุ้นให้โรคกำเริบได้ ดังนั้นการพักผ่อนให้เพียงพอ การออกกำลังกายอย่างเหมาะสมและเมื่อมีการเจ็บป่วย ติดเชื้อ ควรรีบดูแลรักษาโดยเร็ว นอกจากนี้ควรดูแลผิวหนังให้ชุ่มชื้นอยู่เสมอ ด้วยการหลีกเลี่ยงการอาบน้ำอุ่น เลือกใช้สบู่ที่มีค่า pH 5-7 หลีกเลี่ยงสบู่ที่มีน้ำหอม และทาครีม โลชั่นหรือน้ำมันให้ความชุ่มชื้นแก่ผิวหลังอาบน้ำทันที ซึ่งโดยทั่วไปแนะนำให้ทาครีมหลังอาบน้ำภายใน 3 นาที   

โรคสะเก็ดเงินเป็นโรคผิวหนังเรื้อรังชนิดหนึ่ง ไม่ใช่โรคติดต่อ การมีความรู้ความเข้าใจ รวมถึงการดูแลสุขภาพที่ถูกต้องของผู้ป่วยและบุคคลข้างเคียง จะสามารถควบคุมโรคได้ และทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น.

พญ.เปรมจิต ไวยาวัจมัย หน่วยโรคผิวหนัง ภาควิชาอายุรศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

ประสบการณ์ผู้ใช้ผลิตภัณฑ์ งานวิจัย Operation Bim

 


บทสัมภาษณ์นักวิจัย รศ. ดร. ภญ. อำไพ ปั้นทอง


ประสบการณ์สะเก็ดเงิน


ประสบการณ์สะเก็ดเงิน


ประสบการณ์สะเก็ดเงิน


ประสบการณ์สะเก็ดเงิน


ประสบการณ์สะเก็ดเงิน


ประสบการณ์สะเก็ดเงิน


ประสบการณ์สะเก็ดเงิน

มะเร็งเต้านม